ไม่เสียรู้เมื่อท้องเสีย

“ท้องเสีย” เป็นภาษาพูดที่เราเข้าใจไม่ตรงกันนัก โดยมีความหมายตั้งแต่ ถ่ายบ่อย ถ่ายเป็นก้อนนิ่ม ถ่ายเป็นน้ำ ถ่าย 2ครั้ง3ครั้ง4ครั้ง……. ถ่ายไม่สุด ปวดท้องแล้วไปถ่าย ฯลฯ ความหมายของแต่ละคนย่อมไม่ตรงกัน แต่ในทางการแพทย์ ยึดเอาความหมายที่แพร่หลายที่สุดคือ ถ่ายเป็นน้ำ…..และรวมเอาการถ่ายมากกว่า3ครั้ง ถ่ายเป็นมูกหรือเลือดปน……เป็นอาการท้องเสีย

มาเริ่มสิ่งที่เราควรรู้กันดีกว่า
1. สังเกตอาการก่อนไปพบแพทย์ ว่าจำเป็นต้องไปหาหมอไหม เริ่มจากดูว่ามันมีทีท่าจะหนักขึ้นไหม เช่นถ่ายจนเพลีย หรือว่าปวดท้อง เพราะสองอาการนี้เป็นอาการหลักในการทำให้เราต้องไปหาหมอ ถ้าดูแล้วไม่หนัก ก็อาจกินแค่เกลือแร่ หรือไม่ก็อยู่เฉยๆก็หายไปเอง อาจสังเกตก่อนว่าอาการนั้นเกี่ยวพันกับอาหารหรือเปล่า อาหารเผ็ดจัด…… ตัวยอดฮิตที่ทำให้ถ่าย+แสบ+ปวดท้อง
นม …….. อาหารเยี่ยมไข้นี่ล่ะตัวดี ทำให้คนที่ไม่สบายแล้วกินเข้าไปยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะจะปวดท้องและถ่ายได้พอสมควร อาหารเสริมยาระบายต่างๆ เจ้านี่ก็ทั้งปวดทั้งถ่าย
บางครั้งเราถ่ายเพราะเราทำตัวเราเองแท้ๆ ซึ่งพอเราหยุดกิน อาการก็มักหายไปในวันเดียว

2. อะไรที่ควรรู้ก่อนไปหาหมอ

ข้อมูลที่แพทย์จะถาม มีเรื่อง จำนวนครั้งที่ถ่าย, ลักษณะมีมูกยืดๆ หรือเลือดปนไหม , ไข้, กลิ่น , เป็นน้ำหรือเนื้อกว่ากัน ซึ่งจะใช้ในการประกอบการตัดสินใจให้ยา
และอาการที่สำคัญอีกอย่างคือ อาเจียน ซึ่งควรจำให้ได้ว่าอาเจียนก่อน หลัง หรือพร้อมๆ กับท้องเสีย เพราะในโรคบางอย่าง ท้องเสียเป็นแค่อาการประกอบในตัวโรคที่แย่ๆได้

3. ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่หยุดถ่าย แต่เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาด
ความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่คือ หยุดถ่ายแปลว่าดี
ก็ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่มักมาขอยาหยุดถ่ายจากหมอ และก็ไม่น่าแปลกใจที่หมอไม่ชอบรักษาโรคนี้นัก เพราะหมอมักไม่ค่อยให้ยาหยุดถ่าย แล้วคนไข้ก็มักว่าหมอว่ารักษาไม่เก่ง

กลไกที่ทำให้ท้องเสียมักเกิดจากเซลล์ผิวลำไส้เสียไป ทำให้น้ำในร่างกายรั่วออกมา….. ดังนั้นการหยุดการถ่ายเป็นเหมือนแค่การปกปิดความผิดชนิดนึง เป็นแค่การทำให้ลำไส้หยุดการเคลื่อนตัวขับของเสียเท่านั้น
ในทางการแพทย์ รู้ดีว่าส่วนที่เสียไปจะฟื้นงอกมาใหม่ในสองสามวัน และไปเร่งมันก็ไม่ได้…. สิ่งที่ทำได้คือ เสริมเติมทดแทนในส่วนที่ขาดไปโดยการกินเกลือแร่ทดแทน ไม่ว่าเป็นซองผงหรือจะกินแบบที่ขายตามร้านค้าก็ได้
ส่วนการที่ท้องเสียมาแล้วมาให้หมอแทงเส้นให้น้ำเกลือ ก็เป็นความคิดที่ผิดๆ แบบนึง เพราะน้ำเกลือ1ขวด ก็มีค่าเท่ากับน้ำเกลือผง1ซองเท่านั้น ถ้าไม่ถึงกับแย่มากจนกินไม่ไหวก็ไม่ควรให้น้ำเกลือเพราะว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี

4. สุดท้าย ไปหาหมอแล้วจะได้อะไรมา
ก็จะได้ น้ำเกลือแร่ แน่ๆ ส่วนที่เหลือก็จะมียาปฎิชีวนะ และยาแก้ปวดท้อง

ยาปฏิชีวนะ มักจะให้ในรายที่มีการติดเชื้อที่รักษาได้ด้วยยา…. โดยการให้จะมาจากประวัติที่คนไข้บอกหมอไป
ข้อยกเว้นที่อาจทำให้หมอสั่งทั้งที่ยังไม่แน่ใจว่ายานี้จะช่วยคือ
ก. คนที่เป็น เป็นเด็ก สตรีมีครรภ์หรือคนแก่ ….. ยาเปรียบเหมือนที่นั่งบนรถเมล์ คนกลุ่มที่เสี่ยงที่จะล้มง่ายๆ ก็สมควรได้ไว้ก่อน.. เพราะหากรถเบรกแรงๆ จะได้ไม่เป็นอะไรมาก ส่วนคนที่เดิมแข็งแรงอยู่แล้วไม่ต้องนั่งก็ได้ เพราะบางทีพุ่งกระเด็นออกนอกรถยังไม่ตายเลย
ข. ชาวบ้านในแถบนั้นดุ ประมาณว่าจะเอายาให้ได้….. ในหลายๆพื้นที่ หมอที่ต้องทำงานนานๆ หลายๆ ปี มักให้ยาฆ่าเชื้อไปเลยเพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะกับคนในพื้นที่

ยาแก้ปวดท้อง เป็นดาบสองคม ในมือผู้เชี่ยวชาญหรือรู้จริง มันจะช่วยบรรเทาอาการได้อย่างดี แต่ในมือคนที่ไม่มีความรู้หรือรู้แต่ผิวๆ การให้ไปอาจทำให้เกิดอันตรายถึงตายได้

กรณีที่ผมเจอเป็นคนที่ไปซื้อยาแก้ปวดท้องยาฆ่าเชื้อและยาหยุดถ่ายจากร้านขายยามาให้ลูกกิน พอเด็กกินก็หยุดถ่ายและไม่งอแง ผ่านไปไม่นานก็ซึมลงไข้สูงไม่รู้ตัว ไปหาหมอก็พบว่าเชื้อโรคเข้ากระแสเลือด ความดันตก ใส่ท่อช่วยหายใจ เข้าไอซียูไปเลย…….. กรณีแบบนี้เจอได้ประปราย สัปดาห์ละคนสองคนที่ต้องมานอนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

5.ข้อสรุปของเรื่องท้องร่วง คือ
– ให้รู้วิธีรักษาตนเองขั้นต้นครับ ให้มีผงเกลือแร่ติดบ้านเอาไว้ห้าหกซองก็ยังดี สำหรับการให้เด็กดื่มน้ำเกลือแร่ที่ทำได้ยากแสนยาก อาจให้ใช้น้ำอัดลมเย็นๆ ผสมเกลือให้เด็กดูด เด็กจะเต็มใจกิน สำหรับคนเฒ่าคนแก่ มักจะมีความเชื่อที่ไม่กินผงเกลือแร่หรือน้ำอัดลม ให้คุณลองเอาน้ำข้าว(ต้มข้าวแล้วตักเอาแต่น้ำมา)ผสมเกลือให้ท่านดื่มก็ได้ มีคุณค่าใกล้ๆกัน (เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านชาวจีนไทยญี่ปุ่นลาวเขมรพม่าลาว ที่เหมือนๆกัน)

-รู้จักสังเกตอาการที่แพทย์จะซักถาม เพราะมันมีส่วนในการตัดสินใจในการให้ยา

-รู้จักการรอคอย เพราะโรคนี้เป็นโรคของเลข3
อาการมีสามอย่างหลักๆ คือ วันที่1ปวด วันที่2ถ่าย วันที่3เพลีย หลังกินน้ำเกลือแร่ กว่าจะดูดซึมและนำไปใช้ร่างกายจะหายเพลีย ก็ปาไปเกือบๆ 3ชั่วโมง
ผนังลำไส้ใช้เวลางอกตัวราวๆ 3วัน ดังนั้นอาการท้องเสียมักจะหายในวันที่สองหรือสามหลังการรักษา

คนที่กินน้ำเกลือแร่แล้วไม่หายเพลีย ก็นั่งรอนอนรอสักหน่อย อย่ารีบนัก คนที่ซื้อยามากินเช้า ก็ไม่มีทางหายตอนเย็น ต้องรอคอยสักหน่อย

– สุดท้าย รู้จักหาสาเหตุ
เหตุมีตั้งแต่ อาหารรสจัด อาหารที่ไม่ถูกส่วน อาหารที่เป็นยาระบาย โรคภัยบางอย่าง อนามัยส่วนตัว ฯลฯ ถ้ารู้จะได้ป้องกันได้

หวังว่าเมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ อาจช่วยทำให้ทุกท่านเข้าใจในโรคนี้มากขึ้น และรักษาตนเองและคนที่ใกล้ชิดให้มีความสุขได้ครับ
(ผมเองจะได้ไม่ต้องทำงานหนักด้วย ฮะ ฮะ)

โดย : หมอแมว
อีเมล์ : apgar@hotmail.com
วันที่ : 2005-05-11 04:11:41

แหล่งข้อมูล: www.mthai.com

Posted in รู้ทันสุขภาพ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *