มฤตยูเงียบโรคหน้าร้อน
ช่วงนี้กำลังเข้าสู่หน้าร้อนในรูปแบบที่แล้งเร็วและร้อนแรง ลักษณะอากาศที่ร้อนแรงเช่นนี้ มักแฝงมากับมฤตยูเงียบมากมาย โดยเฉพาะเชื้อโรคร้ายสารพัดชนิด ที่เติบโตได้ดีในภาวะแห้งแล้ง หรือบางแห่งอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำดื่ม – น้ำใช้ที่สะอาด จึงเพิ่มความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น
เริ่มที่ กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ที่ต้องระวังในช่วงฤดูร้อนมี 5 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง, อาหารเป็นพิษ, โรคบิด, อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์ อาการสำคัญของโรคเหล่านี้ คือ มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือมูกเลือด ในระยะแรกควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ.อาร์.เอส.) โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองผสมน้ำต้มสุกเย็น 1 แก้ว หากไม่มีให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลมแทน ที่สำคัญต้องดื่มให้หมดภายใน 1 วัน
ในกรณีเด็กมีอาการถ่ายไม่หยุดให้ดื่มนมแม่หรือนมผสม สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ได้ และให้ดื่มน้ำตาลเกลือแร่ที่ผสมแล้ว โดยห้ามกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะเป็นการกักเชื้อให้อยู่ในร่างกาย หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากเกิดการสูญเสียน้ำในร่างกายมากอาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้
การติดต่อของโรคร้าย เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่เชื้อมีปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ โดยสามารถป้องกันได้โดยการล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงและกินอาหาร หรือชงนมให้เด็ก ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก กินอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ งดการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย และถ่ายอุจจาระในส้วม
กลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่น่าจับตามอง มี 1 โรค คือ “โรคพิษสุนัขบ้า” หรือ “โรคกลัวน้ำ” โรคนี้ติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลรอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก สัตว์นำโรคที่พบมากสุด คือ สุนัข รองลงมาเป็นแมว และอาจพบในสัตว์เลี้ยงอื่น เช่น หมู ม้า วัว ควาย และสัตว์ป่า เช่น ลิง ชะนี กระรอก กระแต เป็นต้น
สัตว์ที่เป็นโรคสังเกตได้จากมีนิสัยผิดไปจากเดิม ตื่นเต้น ตกใจง่าย กระวนกระวาย กัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า กินอาหารน้อยลง ไวต่อแสงและเสียง ต่อมาเป็นอัมพาต หลังแข็ง หางตก ลิ้นห้อย กลืนไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง ชักและตายภายใน 10 วัน นับจากแสดงอาการ เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษา สัตว์ที่ติดเชื้อจะเสียชีวิตทุกราย
วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้งแล้วใส่ยารักษาแผลสด เช่น โพรวิโดนไอโอดีน และรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
กิจกรรม/ข่าวสาร/บทความ
- ข่าวสาร (4)
- งานอีเว้นท์ (3)
- บริจาค/จิตอาสา (1)
- รู้ทันสุขภาพ (11)